×

มรภ.ราชนครินทร์ จับมือ สวทช. และภาคเอกชน มุ่งเสริมกำลังสมรรถนะ ‘บุคลากร-นักศึกษา’ ตอบโจทย์ภาคการผลิต สู่การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

 2 ต.ค. 2565 | 227

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย NTT DATA Business Solutions (Thailand) Ltd. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมมือการดำเนินการ ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศจากกำลังทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างแท้จริง

ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า "ด้วยนโยบายของกระทรวง อว. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีฐานมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง"

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีความมุ่งมั่นพัฒนาคนหรือบุคลากรในทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อนำไปช่วยพัฒนาชุมชนต่างๆ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อดึงเอาจุดเด่น นั่นคือองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชากร เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในฐานะมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น และช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวง อว. มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อพัฒนาทักษะอนาคตที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 2. เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนางานด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ และ 3. เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

"แนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นกระบวนการสำคัญในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัย มีการทำงานที่ตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะ องค์ความรู้ที่ทันสมัย ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยแต่ละสถาบันจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศในด้าน

ใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ทราบถึงแนวทางที่จะต้องทุ่มเททรัพยากร ความสนใจ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในด้านนั้นๆ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษาบุคลากรมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมระดับฐานรากที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" รศ. ดร.ดวงพร กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พัฒนาหลักสูตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตให้กับผู้ประกอบการเกษตรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และบริเวณใกล้เคียง โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วันต่อหลักสูตร ผ่านความร่วมมือจากนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ผู้ประกอบการภายใต้โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ สวทช. นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ หน่วยงานพันธมิตรในการถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญ ได้แก่

1. หลักสูตร HandySense ‘ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ’ ขั้นพื้นฐาน 2. หลักสูตร HandySense ‘ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ’ ขั้นสูง ที่นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งนักวิจัยได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 3. หลักสูตรการผลิตยางพาราตามมาตรฐานการแพทย์และสุขภาพ นำความรู้กระบวนการปลูกยางเพื่อการใช้น้ำยาง การเก็บน้ำยางและมาตรฐานน้ำยางเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และ 4.  หลักสูตรระบบบริหารจัดการและติดตามการผลิตพืชปลอดภัย GAP (SMART Farm_KASETTRACK) แอปพลิเคชันติดตามการปลูกพืชผักของเกษตรกร ซึ่งทำให้เกษตรกรรู้ชนิดพืชที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและสามารถวางแผนบริหารจัดการด้านการขาย โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต

นอกจากนี้ในความร่วมมือดังกล่าว สวทช. ยังมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ,การผลิตพริกคุณภาพแบบปลอดภัย ,การผลิตพืชหลังนาแบบครบวงจร : พันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ KUML และสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ซึ่งพัฒนาระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ

รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วันต่อหลักสูตร เพื่อเสริมทักษะและสร้างแนวทางต่อยอดการเพิ่มมูลค่าทั้งผลผลิต และการพัฒนาเป็นอาชีพเสริม โดยผู้ผ่านการอบรมเฉลี่ย 30 คนต่อหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง ส่วนการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร จะมีสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. มาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ ไปพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค และยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ สวทช. พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการในภาคการเกษตร เปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมที่ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ไปสู่ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ ด้วยการประยุกต์และปรับใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้อย่างยั่งยืน     

 

อัพเดทล่าสุด

  21 เม.ย. 2567
อพท. เปิดรับสมัคร  “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน” เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ชิงเงินรางวัลกว่า 130,000 บาท

  23 เม.ย. 2567
“centralwOrld Summer 2024 Trunk Show The List” ปรากฏการณ์แฟชั่นโชว์รูปแบบใหม่ เปลี่ยนศูนย์การค้าเป็นรันเวย์ อัพเดทเทรนด์แฟชั่นปรับลุครับซัมเมอร์

  25 เม.ย. 2567
“เจฟ ซาเตอร์” ทุ่มสุดตัว จัดเต็มโปรดักชันอลังการ ครบทุกมิติ ขนเซอร์ไพรส์!! โชว์จัดหนักเพื่อแฟนเพลง ในคอนเสิร์ต “est Cola Presents Jeff Satur: Space Shuttle No.8 Asia Tour in Bangkok”  

  11 เม.ย. 2567
สยามพารากอน ผนึกกำลังTikTok ฉลองสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ต้อนรับปีแห่งเทศกาลมรดกทางวัฒนธรรม

เว็บไซต์ Thedailybangkok.com เป็นเว็บไซต์เพื่อ ข่าวสาร สาระ และ ความบันเทิง เพื่อสังคมไทย

ช่องทางติดต่อทีมงาน Thedailybangkok.com แนะนำ, ติชม, ฝากข่าวประชาสัมพันธ์, ติดต่อโฆษณา ติดต่อธุรกิจ : thedailybkk@gmail.com
เบอร์โทร : 090-328-2392

     

Copyright © www.thedailybangkok.com 2024 all rights reserved.

นโยบายคุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ การจัดการคุกกี้